ตอนที่ 2 Modular Belt และ Top Chain ต่างกันอย่างไร

สร้าง Conveyor ด้วยตัวเองต้องรู้อะไรบ้าง(ตอน1) สวัสดีปีใหม่ 1 มกราคม 2564 เป็นธรรมเนียมครับ เมื่อถึงปีใหม่เราก็ต้องมีการมอบของขวัญ สำหรับคนที่รัก นับถือและระลึกถึง สำหรับบริษัท คอนเวเยอร์ไกด์ จำกัด เราก็ไม่มีสิ่งของที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ที่จะมอบให้ แต่เราคิดว่าเราจะให้อะไรที่จะมีคุณค่ามากไปกว่าสิ่งที่คนอื่นไม่จัดมอบให้ได้ นั่นคือ เราจะนำ ความรู้เรื่องการสร้างคอนเวเยอร์(Conveyor) ด้วยตัวเองมาแชร์ให้ผู้อ่านที่ติดตามผลงานของเราได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งประเด็น การประหยัดเงิน การประหยัดเวลา และการเพิ่มพูนความรู้เพื่อไปต่อยอดในงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นี่คือของขวัญวันปีใหม่ที่เราภูมิใจที่จะมอบให้ครับ


สวัสดี ปีใหม่ 2564 จากชาว Conveyor Guide ทุกคน


จุดประสงค์ ของบทความชิ้นนี้เป็นเรื่องความรู้เรื่องการ สร้างคอนเวเยอร์(Conveyor) ด้วยตัวเอง ที่จะทยอยเขียนเป็นหลายตอน เพราะเนื้อหาเยอะ มีทั้งรูปภาพและ Drawing ประกอบ เมื่ออ่านจบ ทบทวนนิดหน่อย รับรองว่าท่านผู้อ่านสามารถเข้าใจและสร้างคอนเวเยอร์ (Conveyor) ได้ด้วยตัวเองแน่ ๆ ประโยชน์ที่ตามมาก็คือ ผู้อ่านที่ทำเองจะ ประหยัดเงิน ประหยัดเวลาพร้อมกับเข้าใจหลักการออกแบบและมี ไกด์ดีไซน์ (Design Guide) ในการสร้างคอนเวเยอร์ที่ถูกต้องอย่างง่ายๆ ทั้งนี้ผู้เขียนจะพยายามชี้ประเด็นที่เป็นโนว์ฮาว(Know How) และพยายามจะอธิบายประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิคที่ต้องรู้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ โนว์วาย (Know Why) ให้ผู้ที่ติดตาม Web Site ของเราได้เข้าใจหลักการเบื้องต้น เมื่อเข้าใจหลักการแล้วจะสามารถประยุกต์หลักการนี้ เข้ากับคอนเวเยอร์ที่มีแอพพลิเคชั่นการใช้งานหลากหลายต่าง ๆ ได้โดยง่ายและถูกต้อง หวังว่าผู้ที่ติดตามผลงานของ บริษัท คอนเวเยอร์ไกด์ จำกัดจะได้มีทั้งความรู้และความสุขไปพร้อมกัน

ถาม 1 เรื่องกำลังที่จะแชร์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคอนเวเยอร์ (Conveyor) ประเภทอะไร

ตอบ เป็นคอนเวเยอร์ (Conveyor) ประเภทโมดูลาร์ (Modular) และ Top chain Conveyor ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายๆกัน


สายพานโมดูลาร์ (Modular Belt Conveyor) ในอุตสาหกรรมชำแหละเนื้อสัตว์


ถาม 2 สายพาน Top Chain และสายพานโมดูล่าร์ต่างกันยังไงครับ

ตอบ Top Chain คือสายพานลำเลียงชนิดหนึ่งมีการทำงานคล้ายโซ่ (Chain) ตัวสายพานมีลักษณะเป็นลิงค์ (Link) เชื่อมต่อกันเป็นเส้นยาวได้ตามความต้องการ มีหน้ากว้างจำกัด (เท่าที่ทราบหน้ากว้างสูงสุดประมาณ 600 มม.) หากต้องการ Conveyor หน้ากว้างมากขึ้นต้องใช้สายพาน Top Chain หลายๆเส้นมาต่อกัน


Top Chain มีหน้ากว้างจำกัด หากหน้ากว้างมากขึ้นต้องใช้สายพาน Top Chain หลายๆเส้นมาต่อกันกรณีนี้ใช้ 2 เส้นต่อกัน



Top Chain มีหน้ากว้างจำกัด หากหน้ากว้างของ Conveyor มากขึ้นต้องใช้สายพาน Top Chain หลายๆเส้นมาต่อกัน


ตัวสายพานทำจากพลาสติกหรือโลหะก็ได้ ขับเคลื่อนสายพานด้วยเฟือง (Sprocket ลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับโซ่รถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์) ที่ใช้มอเตอร์เป็นต้นกำลัง วิ่งได้ทั้งตรงและโค้งและเอียง


Top Chain พลาสติก ขับเคลื่อนสายพานด้วยเฟือง (Sprocket)


ทั่วไปด้านบนของสายพานมีลักษณะเป็นแผ่นหน้าเรียบ Flat Top (ในปัจจุบันมีการพัฒนาผิวหน้าเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน เช่น ติดยาง ติดบั้ง ติดครีบ)


ตัวอย่างด้านบนของสายพาน Top Chain ที่มีลักษณะเป็นแผ่นหน้าเรียบ



ตัวอย่างด้านบนของสายพาน Top Chain(Multiflex Chain) ติดยาง ติด Roller



สายพาน Top Chain Conveyor แบบวิ่งโค้ง



สายพาน Top Chain Conveyor -ขับด้านข้างแบบวิ่งเป็นวงกลมได้


ส่วนสายพานโมดูล่าร์ (Modular Belt) ตัวสายพานทำมาจากการฉีดพลาสติกออกมาเป็นชิ้น(Module) คล้ายกับตัวเลโก้ Lego) จากนั้นพลาสติกแต่ละชิ้น (Module)เอามาต่อกัน (ด้วย PIN) สามารถต่อหน้ากว้างให้เป้นผืนเดียวกันได้ตามต้องการ


ทีมงาน ของ คอนเวเยอร์ไกด์ กำลังนำชิ้นสายพาน Modularพลาสติก แต่ละชิ้นเอามาต่อกัน (ด้วย PIN/ROD)ให้ได้หน้ากว้าง-ความยาว ตามที่ลูกค้าต้องการ



สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt) สามารถต่อขยายหน้ากว้าง-ความยาวได้ตามที่ลูกค้าต้องการ



สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt) แบบมีบั้งประกอบเสร็จเป็นผืนสายพานเรียบร้อย


ผิวหน้าของสายพานโมดูล่าร์ มีทั้งเป็นแบบเรียบ(Flat)แบบ มีรู(Flush Grid) แบบยกสัน(Raise Rip)ของสายพานขึ้นและติดบั้ง(Cleat) ติดครีบ ติดยาง(Rubber) และอื่น ๆอีกมากมาย เพื่อตอบสนองการลำเลียงทุกรูปแบบ


สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt) ผิวหน้าเป็นปุ่มเพื่อให้น้ำ หรือน้ำมันที่ติดมากับชิ้นงานหยดลงได้ Product จะแห้งขณะลำเลียง



สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt) ผิวหน้ามีรูให้อากาสน้ำไหลผ่านได้ใช้ในไลน์ล้างผัก อาหาร อบ หรือ Product อื่น ๆ ก็ได้



สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt) แบบติดบั้ง(Cleat) และผนังด้านข้าง(Side Wall)


โดยสรุปสายพานโมดูล่าร์สามารถต่อกันให้เป็นผืนเดียว โดยมีหน้ากว้าง-ความยาวได้หลายเมตร ทำให้มีความสะดวกกว่าสายพาน Top chain กรณีที่ลำเลียงของชิ้นใหญ่และมีน้ำหนักมาก ๆ ดังนั้นสายพาน Modular จึงใช้งานได้หลากหลาย Application ทั้งงานหนัก งานเบา ไลน์ล้าง ไลน์ cooling ไลน์ Storageและอื่น ๆได้หลายรูปแบบมากกว่าสายพาน Top chain

ถาม 3 เมื่อก่อนผมเคยทำสายพานประเภท PVC/PU Conveyor มันต่างกันกับ Conveyor ประเภทโมดูลาร์ (Modular) และ Top Chain หรือเปล่า เอาความรู้หลักการทำงานเดิมมาใช้งานด้วยกันได้ไหม

ตอบ คอนเวเยอร์ประเภท PVC/PU และ Conveyor ประเภทโมดูลาร์ (Modular) และ Top chain มีหลักการทำงานต่างกันอย่างตรงกันข้าม กล่าวคือ คอนเวเยอร์ ประเภท PVC /PU ทำงานด้วยระบบ High Tension (แรงดึงสูง)ความหมายคือ ถ้าสายพานไม่ตึง Conveyor จะไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นจะสังเกตว่าสายพาน PVC / PU จะมี Take up เพื่อปรับสายพานให้ตึงด้วยอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง สายพานจะยืด (Elongate) สายพานจะยาวขึ้น จะไม่ตึง ทำให้ต้องปรับTake Up อีกเพื่อให้สายพานตึงมากขึ้นเพื่อให้สายพานทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง และต้องปรับความตึงไปเรื่อยๆทุกครั้งเมื่อสายพานยืด ดังนั้นสายพาน PVC /PU จะขาดตัวTake Up ไปไม่ได้ จะเห็นว่าสายพาน PU/ PVC จะมีปัญหาเป็นธรรมชาติของมันคือการ สลิป(Slip) สไลด์(Slide)ผลก็คือต้องเสียเวลาในการปรับตั้ง บางครั้งการสลิป(Slip) สไลด์(Slide) ทำให้ขอบสายพานเสียหายเมื่อเบียดกับโครงสร้าง และการยืดของสายพาน PVC/PU ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น


สายพาน PVC /PU จะขาดตัวปรับตึง Take Up ไปไม่ได้ เพราะต้องคอยปรับสายพานให้ตึงอยู่เสมอ


ส่วนโมดูลาร์ (Modular) และ Top chain Conveyor เป็นระบบการทำงานแบบตรงข้ามกับสายพาน PVC/PU Conveyor คือขับเคลื่อนโดยใช้แรงดึงต่ำ(Low Tension) โดย Sprocket จะเกี่ยว(Engage) กับรูบนสายพาน เรียกว่า Positive Drive เปรียบให้เข้าใจได้ง่ายๆคล้ายกับโซ่จักยานไม่ต้องตึง หย่อนๆหน่อยถึงจะทำงานได้ดี ปรกติถ้าสายพาน (Conveyor Length) หากไม่ยาวมาก(ไม่เกิน 2เมตร-ถ้ายาวมากหรือมีน้ำหนักบรรทุกมากอาจจะจำเป็นต้องมี Take Up ในบางกรณี) จะไม่ต้องใช้ชุดปรับความตึง(Take Up) สายพานประเภทนี้เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะต้องการแก้ปัญหาการ สลิป(Slip) สไลด์(Slide) ของสายพานประเภท PU/ PVC ได้อย่างได้ผล สรุป คำตอบก็คือคอนเวเยอร์ทั้ง 2 ประเภท PVC/PU Conveyor และ Conveyor ประเภทโมดูลาร์ (Modular) และ Top chain มีหลักการทำงานที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นผู้ออกแบบที่คุ้นเคยกับการออกแบบสายพาน PVC/PU จะต้องเริ่มศึกษาสายพานแบบนี้ใหม่ให้ลืมอันเก่าไว้ก่อนนะครับ


สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt)ไม่ต้องมี Take Up แถมต้องมีระยะหย่อนของสายพานด้วย


ถาม 4 ถ้าผมเริ่มต้นอยากทำสายพานโมดูล่าร์(Modular Belt Conveyor) และสายพาน Top Chain Conveyor ผมจะเริ่มต้นอย่างไร และต้องรู้อะไรบ้าง

ตอบ จะต้องรู้ใน 3 หลักการ ดังต่อไปนี้คือ
         ข้อที่ 1 Conveyor layout
         ข้อที่ 2 Conveyor Basic requirements (มีหลายข้อจะทยอยเขียนในตอนต่อๆไป)
         ข้อที่ 3 Drive Concept

ถาม 5 Conveyor Layout คืออะไรและเป็นยังไงครับ

ตอบ Conveyor layout คือ ระยะและลักษะณะรูปร่างของคอนเวเยอร์ที่เราจะสร้างขึ้น มีรูปร่างและทิศทางการเคลื่อนที่อย่างไรเช่น เป็นคอนเวเยอร์ แบบเคลื่อนที่ในแนวตรง ในแนวโค้ง หรือในแนวเอียง ซึ่งเป็น 3 แนวหลักๆที่ผู้ออกแบบต้องรู้เสียก่อน ดูตัวอย่างด้านล่างนี้


สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt Conveyor) Lay Out Sketch แบบวิ่งตรง(Straight)




สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt Conveyor) แบบวิ่งตรง(Straight)



สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt Conveyor) Lay Out แบบวิ่งโค้ง(Side Flexing)



สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt Conveyor) Lay Out แบบวิ่งเอียง (Incline )


ถาม 6 เมื่อรู้รูปแบบของ Conveyor Lay Out แต่ละตัวแล้วต้องทำยังไงต่อไป

ตอบ เมื่อรู้แล้วก็ต้องนำคอนเวเยอร์ที่มีรูปแบบต่าง ๆกัน ตรง บ้าง โค้งบ้าง เอียงบ้าง สั้นบ้าง ยาวบ้าง เอามาต่อกันให้วิ่งเป็นระบบ (Conveyor System Lay Out) ที่เราต้องการ คำว่าต่อกันหมายความว่าจะโปรดักส์ ให้เคลื่อนที่จากจุดใดไปถึงจุดใด วิ่งตรง เลี้ยวโค้ง แล้วเอียง ขึ้น-ลงอย่างไร หรือจะกลับวิ่งตรงอีกครั้งหนึ่ง หรือเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบจะต้องเป็นผู้กำหนดการใช้งานเอง คอนเวเยอร์ที่นำมาต่อกันหลายๆตัวเป็นระบบคอนเวเยอร์ (Conveyor System Lay Out)


ตัวอย่างรูปแบบของ Conveyor System Lay Out



ตัวอย่างระบบ(Conveyor System) สายพานโมดูล่าร์(Modular Belt)มีทั้ง วิ่งตรง เลี้ยวโค้ง แล้วเอียง ขึ้น-ลง และแบบบันไดเวียน(Spiral) เข้ามาชมและเรียนรู้ได้ที่สำนักงานของเรา ยินดีต้อนรับทุกท่าน


ถาม 7 เอาล่ะเรื่องระบบคอนเวเยอร์ Conveyor System ผมเข้าใจแล้ว ถ้าหากผมจะสร้างคอนเวเยอร์แบบตัวเดียว ผมจะต้องรู้รายละเอียดอะไรบ้างครับ

ตอบ รายละเอียดมีมากครับไม่สามารถเขียนจบในตอนเดียวได้ จะต้องเขียนเพิ่มอีก 4-5-6….7 ตอน คือคอนเวเยอร์แบบตรง คอนเวเยอร์แบบโค้ง(2 ตอน) และคอนเวเยอร์แบบเอียง จากนั้นเป็นเรื่องของ Top Chain และอื่น ๆ ติดตามในตอนที่ 2- 3 -4 -5….7 ต่อไปครับ

จบ.........ตอนที่ 1 Overview เรื่องของ Conveyor

สุดท้าย..สุดท้าย..ปัจจุบันปริมาณข้อมูลมีมากมายมหาศาลล้นเกินแต่ไร้สาระเป็นส่วนมาก...ความยากไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาข้อมูล แต่อยู่ที่การวิเคราะห์ความถูกต้องและแก่นสารของข้อมูล การสรุปเนื้อหาให้ง่ายๆ ถูกต้องเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง ทว่าข้อมูลที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตปัจจุบันเป็นข้อมูลขยะเสียส่วนมาก ข้อมูลส่วนใหญ่พยายามบอกเรื่องที่ตนเองอยากจะพูด ไม่ได้บอกเรื่องที่ผู้บริโภคอยากจะฟัง เช่นผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ดูแล้ว เข้าใจง่าย มีสาระ ถูกต้อง ครบถ้วน แต่ข้อมูลที่มีอยู่คือรูปของตารางและ Specification ไร้คำอธิบายถึงที่ไปที่มา ผู้บริโภคจึงขาดข้อมูลเชิงภาพรวม (Big Picture) ซึ่งเป็นภาพสุดท้ายที่ผู้บริโภคต้องมองเห็นก่อนตัดสินใจ ส่วนรายละเอียดสเปคสินค้ามาสนับสนุนทีหลังได้ หลังจากภาพรวมมองผ่านไปแล้ว และเราบริษัท คอนเวเยอร์ไกด์ จำกัด(Conveyor Guide Co.,Ltd.) จะพยายามทำหน้าที่ฉายภาพรวมและภาพรายละเอียดแต่ละชิ้นของส่วนประกอบย่อย ๆของภาพนั้น โดยเราจะแสวงหาข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านที่ผู้บริโภคอยากรู้...แต่คนอื่น (ผู้ขายมากราย)ไม่บอกโดยหวังว่าจะเก็บสิ่งที่ผู้บริโภคไม่รู้นี้ไว้ต่อรอง...แต่สำหรับ Conveyor Guide เรื่องการแบ่งปันความรู้แล้เราจะสร้างประสบการณ์ร่วมใหม่ๆร่วมกับผู้บริโภค...โดยเราจะทำตัวเป็นโทรโข่งตรงข้ามกับคนอื่น...เขาปิด-เราจะเปิด...เขาเงียบ-เราจะตะโกน...เหมือน Motto ที่เราเอ่ยถึงอยู่เสมอๆว่า“Together We Share บอกทุกเรื่องที่คนอื่นไม่อยากให้คุณรู้” เพราะเราถือว่ายิ่งผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้นเท่าไหร่ ทุกคนยิ่งจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเราถือว่าความสำเร็จของผู้บริโภคคือแหล่งที่มารายได้ของเรา ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่สร้างความรู้และช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างเต็มที่เท่าที่แรงงานและสติปัญญาของเราพึงมี


สิ่งที่เตือนใจเราอยู่เสมอ Fast & Simple



Visitors: 56,419